แผลเป็นคีลอยด์ อุปสรรคของความสวยงาม สร้างความไม่มั่นใจให้กับคุณผู้หญิง โดยเฉพาะรอยแผลเป็นที่ปูดนูนเห็นเด่นชัดอยู่บนผิว ซึ่งรอยแผลเป็นนอกจากจะทำให้ผิวดูไม่สวยงามแล้ว บางทียังเกิดอาการคันจนสร้างความรำคาญใจให้อีกด้วย
ลักษณะของ แผลเป็นคีลอยด์
แผลเป็นคีลอยด์ (Keloid) คือแผลเป็นชนิดหนึ่งที่มีลักษณะนูนเงาและขยายใหญ่กว่าแผลเป็นที่เกิดขึ้น ในช่วงแรกๆ จะปรากฏเป็นสีแดงแล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีคล้ำหรือซีดลง โดยอาจเกิดขึ้นทันทีที่แผลหายหรือหลังจากที่แผลหายดีได้สักพัก บางครั้งอาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปีกว่าจะก่อตัวขึ้นมา อาจทำให้รู้สึกเจ็บ คัน ระคายเคืองและส่งผลกระทบถึงเรื่องความสวยความงาม สามารถเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย โดยส่วนใหญ่มักขึ้นตาม หน้าอก หัวไหล่ หลัง ลำคอ และติ่งหู ซึ่งแผลเป็นคีลอยด์ จะคงอยู่เป็นเวลาหลายปี
แผลเป็นคีลอยด์ เกิดจากอะไร
สาเหตุของการเกิด แผลเป็นคีลอยด์ เกิดมาจากความผิดปกติของกระบวนการรักษาแผลตามธรรมชาติของร่างกาย โดยปกติผิวหนังจะมีการสร้างเนื้อเยื่อและคอลลาเจนเพื่อซ่อมแซมส่วนที่เสียหาย แต่หากกระบวนการนี้ทำงานมากจนเกินไปจะทำให้เกิดแผลเป็น โดยจะก่อตัวขึ้นหลังจากที่ได้รับบาดแผลบริเวณผิวหนัง เช่น แผลจากการผ่าตัด แผลจากการเจาะตามร่างกาย แผลไหม้ แผลจากอีสุกอีใส แผลจากสิว หรือแม้กระทั่งแผลที่เกิดจากรอยขีดข่วนเล็กๆ น้อยๆ ซึ่ง แผลเป็นคีลอยด์ จะแตกต่างจากแผลเป็นทั่วไป ตรงที่แผลเป็นส่วนใหญ่จะค่อยๆ จางหายได้เองตามธรรมชาติ แต่ แผลเป็นคีลอด์ จะค่อยๆ ขยายใหญ่และนูนขึ้นกว่าแผลเดิม มักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีอายุระหว่าง 10 – 30 ปี อาจมีแนวโน้มจากพันธุกรรม ซึ่งผู้ที่เป็น แผลคีลอยด์ ก็อาจมีสมาชิกในครอบครัวที่เคยเป็นคีลอยด์ได้เช่นเดียวกัน
การรักษา แผลเป็นคีลอยด์
แนวทางในการรักษา แผลเป็นคีลอยด์ มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับลักษณะของ แผลคีลอยด์ ที่เกิดขึ้น โดยจำแนกการรักษาแผลเป็นคีลอยด์ ได้ดังนี้
1.การผ่าตัด เป็นวิธีการตัดแผลออกหรือลดขนาดของแผลเป็นให้เล็กลง ซึ่งการตัดแผลจะทำโดยการผ่าตัดบริเวณที่เป็นแผลออกแล้วเย็บปิดเป็นเส้นตรง มักใช้ในกรณีที่เป็นแผลขนาดเล็กและเกิดขึ้นตามร่างกายในส่วนที่พอจะเย็บแผลได้ บางส่วนของร่างกายก็ไม่สามารถใช้วิธีการผ่าตัดได้ เช่น ผิวหนังบริเวณหน้าท้องที่มีความยืดหยุ่นสูง หรือในบางกรณีอาจจะใช้วิธีการผ่าตัดแผลเป็นคีลอยด์ออกเป็นรูปซิกแซก เพื่อให้แผลที่เกิดขึ้นใหม่มีลักษณะย่นตามผิวหนัง
2.การฉีดยาเสตียรอยด์ (Intra lesional corticosteroid) เพื่อลดการอักเสบของแผล ซึ่งแพทย์จะใช้ยา Triamcinolone acetonide ซึ่งเป็นยาฉีดเฉพาะที่ ฉีดเข้าไปในบริเวณที่เป็น แผลเป็นคีลอยด์ โดยตรง โดยผู้ป่วยควรทำการฉีดยาอย่างต่อเนื่องเดือนละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ความถี่ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของยากับแผลเป็นว่ามีผลเป็นอย่างไร
3.การฉายรังสี (Radio therapy) เพื่อป้องกันไม่ให้แผลเป็นนูนมากขึ้น โดยแพทย์อาจใช้การฉายรังสีผ่านเครื่อง SRT (Stereotactic Radiotherapy) ซี่งเป็นการฉายรังสีพลังงานสูงไปยังบริเวณรอยแผลเป็นที่มีความแม่นยำสูง โดยจะแบ่งการฉายแสงออกเป็นหลายๆ ครั้ง (Fractionation) เพื่อลดผลข้างเคียงจากการฉายแสง การรักษาด้วยวิธีนี้จะไม่สามารถทำให้แผลเป็นคีลอยด์หายขาดได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่จะช่วยป้องกันไม่ให้แผลเป็นขยายใหญ่ขึ้นอีกในอนาคต
4.เลเซอร์รอยแผลเป็น (Laser therapy) เพื่อทำลายเนื้อเยื่อรอยแผลเป็น ทั้งนี้แพทย์อาจใช้วิธีการอื่นควบคู่ไปด้วย เช่น การกรอผิวเพื่อปรับสภาพผิวให้เรียบเนียนขึ้น
5.การทำไอพีแอล (Intense pulse light – IPL) สามารถทำให้เนื้อเยื่อหรือพังผืดเกิดการเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ ช่วยให้แผลเป็นมีขนาดเล็กลง วิธีนี้อาจต้องใช้เวลา และการดูแลรักษา แต่ต้องใช้เวลาในการรักษาอย่างต่อเนื่อง
สรุป
การรักษา แผลเป็นคีลอยด์ จะให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวิธีการรักษา แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางผิวหนังเพื่อวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม อย่างไรก็ตาม การรักษาที่จะให้ผลดีที่สุด ควรรักษาหลากหลายวิธีควบคู่กัน เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด